วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ทงเก้าช่อง…แต่งแก้ (สะเดาะเคราะห์)

ชาวอีสานเรานั้นเชื่อถือเรื่องโชคลางและบาปกรรมกันมาเป็นเวลานานมาแล้ว ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า เมื่อเรามีเคราะห์หรือทุกข์ร้อนต่างๆ นาๆ วิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาสิ่งเลวร้ายต่างๆ ให้ทุเลาเบาบางลงไปได้นั้นก็คือการแต่งแก้ (สะเดาะเคราะห์)  นายทองสา  สุดตา  ปราชญ์ประจำหมู่บ้านหนองปิง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เล่าว่า  การแต่งแก้ (สะเดาะเคราะห์) ของชาวอีสาน  มีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ  โดยเหตุที่ทำให้เกิดการแต่งแก้ (สะเดาะเคราะห์) ขึ้นนั้นเนื่องมาจากตัวของบุคคลเองที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นกับชีวิต  ฝันร้าย  หรือมีลางบอกเหตุต่างๆเกิดขึ้นจึงต้องมีการทำพิธีกรรมตามความเชื่อแบบชาวอีสานอย่าง การแต่งแก้ (สะเดาะเคราะห์) เพื่อบรรเทาทุกข์ร้อนต่างๆออกไปจากชีวิต  ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีหลายรูปแบบแต่โดยทั่วไปแล้วจะนิยมแต่งแก้ด้วยเครื่องสักการะที่ชื่อว่า  ทงเก้าช่อง  ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ  เพราะเชื่อว่าเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและเคราะห์กรรมต่างๆให้หายไป  และยังเป็นการต่อชะตาชีวิต  เสริมดวงให้มีความเป็นสิริมงคลอีกด้วย



วัสดุอุปกรณ์
1 ตัวทง
1.กาบกล้วย                                                     
2.ไม้ไผ่เหลา 9 แท่ง
3.เศษผ้า/เส้นด้ายสีต่างๆ                                                 
4.ยอดกล้วยและยอดอ้อย
5.เทียนยาว 1 ศอก 1 เล่ม                                      
6.หุ่นคนจากกาบกล้วย 2 ตัว      
7.เทียนไข 1 เล่ม                                                
8.ไข่ไก่ดิบและขันธ์ 5               
         
2 เครื่องสักการะในทงหนึ่งช่อง
1.ข้าวดำ          1 คำ                               
2.ข้าวแดง 1 คำ
3.ข้าวเหลือง 1 คำ                                     
4.ข้าวเหนียวนึ่ง 1 คำ    
5.หมากพลู 9 จีบ (ใช้แก่นคูนแทนหมากก็ได้)        
6.ยาเส้น 9 กรอก
7.ปลาแห้ง                                             
8.รูปสัตว์ (กระดาษ) 1 ชนิด       
9.กรวยใบฝรั่ง 9 กรวย                                
10.เมี่ยงข่า 1 ไม้ (1 ไม้มี 9 ห่อ )

11.ข้าวตอก

 การทำทงเก้าช่อง
1 ทำเครื่องสักการะ
1.ทำข้าวดำ  โดยการคั่วงาให้ไหม้แล้วนำมาตำกับข้าวเหนียวนึ่งและน้ำตาลทรายแดง
       2.ทำข้าวเหลือง  โดยการคั่วงาให้เป็นสีน้ำตาลอ่อนแล้วนำมาตำกับข้าวเหนียวนึ่งและน้ำตาลทรายแดง
3.ทำข้าวแดง  โดยการนำขมิ้นมาผสมกับปูนขาวแล้วนำมาตำกับข้าวเหนียวนึ่งและน้ำตาลทรายแดง
4.พันพลูที่ทาปูนขาวแล้ว  จากนั้นมัดรวมกับหมากหรือแก่นคูน
5.พันยาเส้น
6.ตำเมี่ยงข่า  จากนั้นห่อด้วยใบมะยมแล้วเสียบไม้
7.ทำกรวยใบฝรั่งแล้วกลัดด้วยไม้
8.ตัดกระดาษเป็นรูปสัตว์ 9 ชนิด (ช้าง, ม้า, หมู, สุนัข, แร้ง, กา, เป็ด, ไก่, ควาย)
9.ทำข้าวตอก


ทงเก้าช่องใช้สำหรับแต่งแก้สะเดาะห์เคราะห์ซึ่งชาวอีสานนิยมทำกัน  หมากพลูเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของทงเก้าช่อง

    ทงเก้าช่องใช้สำหรับแต่งแก้สะเดาะห์เคราะห์ซึ่งชาวอีสานนิยมทำกัน  ยาสููบเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของทงเก้าช่อง

ทงเก้าช่องใช้สำหรับแต่งแก้สะเดาะห์เคราะห์ซึ่งชาวอีสานนิยมทำกัน  กรวยใบฝรั่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของทงเก้าช่อง



2 ประกอบตัวทง    
1. ลอกกาบกล้วยให้ได้ความยาว 1 ต้นกล้วย
2.ประกอบกาบกล้วยให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ทำฐาน  และแบ่งให้ได้ 9 ช่อง
3.ทำไม้ไผ่เหลาแต่ละแท่งให้เป็นรอยบัก 9 บัก
4.นำเศษผ้า 9 สีใส่ตามรอยบัก
5.ปักไม้ไผ่เก้าบักทั้ง 9 แท่งไว้รอบๆขอบทงเก้าช่อง  และปักไว้กลางทง 1 แท่ง
6.ใส่เครื่องสักการะทั้ง 11 อย่างลงในทงแต่ละช่อง  จนครบเก้าช่อง
7.นำรูปสัตว์ต่างๆมาใส่ในทงเก้าช่อง
8.ปักยอดกล้วย  ยอดอ้อย  และเทียนไขให้เรียบร้อย
9.นำทงเก้าช่องไปทำพิธีกรรม และนำไปวางไว้ตามทิศต่างๆบริเวณนอกหมู่บ้านเมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้น

ทงเก้าช่องใช้สำหรับแต่งแก้สะเดาะห์เคราะห์ซึ่งชาวอีสานนิยมทำกัน

อ้างอิง  โครงงาน  เรื่อง  การตัดต่อวีดิโอ  ทงเก้าช่องแต่งแก้ (สะเดาะเคราะห์) ด้วยโปรแกรม Sony  vegas

ครองสิบสี่


ครอง  คือ  ระบบการปกครอง  ได้แก่ตัวบทกฎหมายโบราณมี  14  ข้อ  เรียกว่าครอง  14  มีครองที่พระเจ้าแผ่นดินจะกระทำต่อไพร่ฟ้าของท่านและครองที่ราษฎรจะทำต่อราษฎรด้วยกัน  ในที่นี้จะกล่าวเพียงครองที่ราษฎรจะทำต่อราษฎรด้วยกันเท่านั้น  คือ
1.เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลหมากรากไม้ใหม่  ให้บริจาคทานแด่ผู้มีศีลแล้วตนเองจึงบริโภคและให้แจกแบ่งแก่ญาติพี่น้องด้วย
2.อย่าจ่ายเงินแดงอย่าแปลงเงินกว้างและอย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็งต่อกัน
3.ให้ทำกำแพงบ้านของตน  แล้วสร้างหอบูชาเทวดาไว้สี่มุมของบ้าน
4.ให้ล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน
5.เมื่อถึงวันศีล(วันพระ)  7-8 ค่ำ  14-15 ค่ำ  ให้บูชาก้อนเส้า(เตาไฟโบราณ)  บูชาแม่คีไฟ  บูชาแม่ขั้นบันได  บูชาประตู  บ้านเรือนที่ตนอาศัยอยู่
6.ให้ล้างเท้าก่อนจะนอนในเวลากลางคืน
7.ทุกวันศีล(วันพระ)ภรรยาต้องนำดอกไม้ ธูป เทียนมาบูชาสามี  และให้เอาดอกไม้ ธูป เทียนไปถวายสังฆเจ้า
8.ทุกคืนเดือนดับและคืนเดือนเพ็ญ  ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดที่บ้านแล้วทำบุญใส่บาตร
9.เมื่อภิกษุมาบิณฑบาต  อย่าให้ท่านคอย  ห้ามสัมผัสบาตร  ห้ามสัมผัสตัวภิกษุสามเณร  ต้องถอดรองเท้าก่อนใส่บาตรทุกครั้ง  ห้ามกางร่ม  ห้ามเอาผ้าคลุมศรีษะ  อย่าอุ้มลูกจูงหลานและห้ามถือศัตราอาวุธต่างๆ
10.เมื่อภิกษุเข้าปริวาสกรรม  ให้มีขันข้าวตอก  ดอกไม้ ธูป เทียนและเครื่องอัฏฐะบริขารไปถวายท่าน
11.เมื่อเห็นพระภิกษุสงฆ์ผ่านมา  ให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยเจรจา
12.อย่าเหยียบเงาเจ้าภิกษุตนมีศีลบริสุทธิ์
13.อย่าเอาอาหารที่ตนหรือคนอื่นกินแล้วไปถวายให้แก่สังฆเจ้าและอย่าเอาอาหารตนกินแล้วมาให้สามีตนกินต่อ
14.อย่าเสพกามคุณในวันพระ  วันเข้าพรรษา  วันออกพรรษา  วันมหาสงกรานต์  และวันเกิดของตน

*อ้างอิง : หนังสือประเพณีโบราณไทยอีสาน  โดยปริญญาณ  ภิกขุ(ดร.ปรีชา  พิณทอง)